ชิงคลื่น3จีเริ่มคึกคัก ชี้ทุนใหม่เกิดยาก-รายเดิมได้เปรียบ

26 ตุลาคม พ.ศ. 2552 06:00:00

การประมูล 3 จี คลื่นความถี่ใหม่ เริ่มดุเดือด หลัง กทช.ประกาศราคาเริ่มต้นการประมูล ยึดตามกลไกตลาด ราคาคลื่น 15 เมกะเฮิรตซ์ อยู่ที่ 5.2 พันล้านบาท และคลื่น 10 เมกะเฮิรตซ์ 4.6 พันล้านบาท วงการมือถือชี้รายเก่าได้เปรียบ กทช.ยันไร้ปัญหา ไม่ต้องมีแผนสำรอง หากผู้เข้าร่วมประมูลน้อยกว่าจำนวนใบอนุญาต

คณะ กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ได้ประกาศราคาเริ่มต้นการประมูล บริการโทรศัพท์มือถือระบบ 3 จี รายใหม่ และการกำหนดกรอบเวลาการให้บริการ ผู้ประกอบการเริ่มขยับตัวเข้าร่วมประมูล และคาดว่าจะมีรายใหม่เข้ามาร่วมแข่งขันด้วย

แหล่งข่าวจากวงการโทรศัพท์มือถือกล่าวว่า การประมูลคลื่น 3 จี แม้จะมีรายใหม่จากต่างประเทศ ที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีและเงินทุน แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายในการแข่งขันกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายเดิมใน คลื่น 2 จี

“คลื่น 3 จี ที่มีอยู่อย่างจำกัด และ กทช.ได้จัดสรรเป็น 4 ใบอนุญาตนั้น ไม่ว่าจะตั้งวงเงินไว้เท่าใดก็คุ้มค่าต่อการลงทุนของผู้ให้บริการรายเดิมที่ ให้บริการระบบ 2 จีในตลาดไทยอยู่แล้ว เพราะต่ำกว่าการจ่ายส่วนแบ่งสัมปทานแต่ละปี อีกทั้งยังทยอยลงทุนโครงข่ายได้ ขณะที่เป้าหมายตลาดของผู้ให้บริการที่มีลูกค้าเก่าอยู่แล้ว สามารถทยอยย้ายมารับบริการ 3 จีได้”

แหล่งข่าวกล่าวว่า ราคาที่ตั้งอาจไม่เป็นผลดีต่อผู้เข้าแข่งประมูลหน้าใหม่จากต่างประเทศ แม้จะมีจำนวนเงินพร้อมลงทุนสูง หากรายใหม่ที่ไม่มีฐานลูกค้าเดิมอยู่แล้ว การจะสร้างฐานลูกค้าใหม่ย่อมเป็นไปได้ยาก อีกทั้งลูกค้าใหม่ที่จะใช้บริการ 3 จี ที่คาดว่ามีเพียง 10% ในระยะปีแรก ซึ่งต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะถึงจุดคุ้มทุน

ระบุรายใหม่ใช้เงินลงทุนสูง

แหล่งข่าวกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เห็นแย้ง โดยกล่าวว่า รายใหม่ที่จะเข้ามาทำตลาดไม่เสียเปรียบรายเดิมแต่ประการใด หากเป็นรายที่มีพันธมิตรเป็นผู้ทำตลาด 3 จีอยู่ในต่างประเทศแล้ว เรียกว่าจำนวนเงินลงทุนไม่มีปัญหา ความรู้ความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีก็พร้อม โดยเฉพาะหากมีโปรโมชั่นที่ดึงดูดลูกค้าให้ย้ายค่าย อีกทั้งไม่นานนี้จะมีการใช้ระบบคงสิทธิเลขหมาย ก็ยิ่งลดช่องว่างระหว่างการทำตลาดรายเก่ากับรายใหม่ได้ดีขึ้น

ส่วนปัญหาสำคัญ ซึ่งเป็นเรื่องข้อขัดแย้งจากหลายฝ่ายมากกว่า จึงทำให้ปัญหาคาราคาซัง โดยเฉพาะอำนาจการตัดสิน ออกเกณฑ์ให้มีบริการจากเทคโนโลยีใหม่ๆ เพราะขาด กสทช. ตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550

นายอนุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการอิสระด้านสื่อสารโทรคมนาคม กล่าวว่า อีกไม่นานการคงสิทธิเลขหมาย (Number Portability) จะนำมาใช้ได้จริง ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อผู้ให้บริการรายเดิมเพราะมีลูกค้าอยู่แล้ว ส่วนรายใหม่หากจะเข้ามาทำตลาด 3 จีคงต้องใช้ปริมาณเงินอีกมาก

เขาคาดด้วยว่า การประมูลอาจต้องเลื่อนออกไปอีกนานเกินกว่าที่ กทช. กำหนดไว้ปลายปีนี้ เพราะมีปัญหาที่ยังไม่ลงตัวหลายเรื่อง โดยเฉพาะข้อกฎหมายที่ยังไม่ชัดเจนเรื่องสิทธิ อำนาจหน้าที่ของ กทช. ทั้งชุดที่รักษาการ หรือชุดใหม่ที่จะเลือกเข้ามาแทน แม้กระทั่งต้องรอ กสทช. หรือไม่

เสียงแตกปม 3 จีเกิดยาก

แหล่งข่าวโทรคมนาคม กล่าวว่า 3 จีในไทยยังเกิดได้ยากเพราะมีหลายปัญหา ซึ่งปัญหาหลักหนีไม่พ้นเรื่องการแบ่งผลประโยชน์ไม่ลงตัวของทั้งผู้ให้บริการ มือถือ นักการเมือง ตลอดจนปัญหาที่มีข้อคิดเห็นแตกต่างกันสุดขั้วจากนักวิชาการ องค์กรเอ็นจีโอ จึงเห็นได้ว่ารัฐบาลหลายยุคแม้พยายามจะให้เกิดประมูล 3 จี แต่ไม่สามารถดำเนินการได้

เช่นเดียวกับรัฐบาลนี้ ที่แม้นายกรัฐมนตรีจะส่งสัญญาณให้ประมูล 3 จีโดยเร็ว อย่างรอบคอบก็ไม่มีอำนาจจะผลักดัน ดังนั้นการจะเกิดประมูล 3 จี ได้ภายใน 2-3 เดือน คงเป็นไปไม่ได้ง่าย ดูตัวอย่างเฉพาะการจะมี กสทช. ยังล่าช้ามานานทั้งที่ควรจะมีมา 4-5 ปีแล้ว

หาก กทช. สร้างแพลตฟอร์มที่เป็นธรรม และทุกฝ่ายไม่ตั้งเป้ายืนอยู่ในมุมของตัวเอง ก็จะคลี่คลายปัญหาได้

วงเงินแบงก์ การันตีสูงปัญหาใหญ่

ส่วนทรู คอร์ปอเรชั่นที่แสดงท่าทีคัดค้านอย่างชัดเจนในประชาพิจารณ์จัดสรรคลื่น 3 จีครั้งแรก จนถึงวันนี้ยังมีจุดยืนดังเดิม โดยย้ำเรื่องการสื่อสารเป็นเรื่องของความมั่นคงประเทศ อีกทั้งยังมองด้วยว่า ราคาประมูลเริ่มต้นไม่ใช่สิ่งสำคัญสูงสุด

นายอธึก อัศวานันท์ รองประธานกรรมการ และหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกฎหมาย บมจ.ทรู คอร์ป กล่าวถึงสิ่งที่ต้องตระหนักสำหรับผู้เข้าประมูลว่า ในกฎเกณฑ์การประมูลที่เขียนไว้ต้องวางแบงก์ การันตีไว้ตามราคาเท่ากับการประมูลด้วยนั้นเป็นเรื่องที่สูง เช่นต้องการไลเซ่น 15 เมกะเฮิรตซ์ ก็ต้องวางแบงก์การันตี 5.2 พันล้านบาท เป็นเรื่องที่เอกชนก็จะต้องหาแบงก์ การันตีมาด้วย แต่ระยะเวลาการประมูลหากเร็วเกินไป ก็น่าคิดว่าจะทำได้ทันเวลาหรือไม่

“หากคงไม่ใช่ปัญหาของรัฐบาลสิงคโปร์ ที่มีหุ้นในแบงก์ต่างๆ เพราะสามารถสั่งการให้ช่วยเหลือกันได้ทัน ฉะนั้นอำนาจการต่อสู้ในครั้งนี้อาจไม่เท่าเทียมกันตั้งแต่เริ่มต้น”

ชี้ไทยช้าเสียโอกาสดึงเงินทุน

น.ส.คริสติน ดิว โฮก ผู้อำนวยการฝ่ายคลื่นความถี่ สมาคมผู้ประกอบการจีเอสเอ็ม (จีเอสเอ็มเอ) กล่าวว่า ประเทศไทยควรเร่งพิจารณาประมูล และใบอนุญาตมือถือ 3 จี เพื่อพัฒนาประเทศ และเป็นการใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจโดย เร็ว

ประเด็นคลื่นความถี่ 3 จี ถือเป็นความท้าทายของรัฐบาล และหน่วยงานกำกับดูแล ที่จะเปิดประมูลและให้ไลเซ่น และเท่าที่ทราบคนไทยส่วนใหญ่ก็ต้องการให้มี 3 จี ดังนั้นเรื่องนี้เหมือนกับเป็นการเทรดออฟ ที่ต้องสร้างสมดุลให้เกิดขึ้น

“สิ่งสำคัญต้องมองถึงธรรมชาตินักลงทุนด้วยที่จะคำนึงถึงระยะเวลาจุดคุ้มทุน ดังนั้นหากการให้คลื่นความถี่และใบอนุญาตล่าช้าออกไปเรื่อยๆ ก็มีโอกาสที่จะโยกเงินลงทุนเข้าไปยังประเทศอื่นๆ ในเอเชียแทน แม้ว่าปัจจุบันไทยจะเป็นแหล่งที่ดึงดูดใจมากที่สุดก็ตาม” น.ส.คริสติน กล่าว

ส่วนการนำประเด็นทางการเมืองมาแทรกแซงในการออกใบอนุญาต รวมถึงการหยิบยกแนวคิดชาตินิยม และความมั่นคงเพื่อสกัดการเข้ามาของกลุ่มทุนจากต่างประเทศนั้น จากประสบการณ์ตัวเธอนั้นในประเทศที่ตลาดมือถือพัฒนาเต็มที่แล้ว จะไม่มีปัญหานี้ เนื่องจากรัฐบาลจะมีระบบการติดตามสอดส่องได้อย่างมั่นใจ และตรวจสอบความโปร่งใสในการประมูลได้

ขณะเดียวกัน ในประเทศเอเชียบางราย ซึ่งเปิดกว้างต่อเรื่องข้อกำหนดเรื่องการเป็นเจ้าของกิจการ ก็สามารถสร้างการเติบโตให้กับอุตสาหกรรมมือถือ และเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว

ขณะที่ นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า จากการคำนวณทั่วโลกมีอัตราการใช้ 3 จี ประมาณ 10-20% ส่วนไทยจะมี 3 จี ช้าไปอีกไม่มาก ถ้าทำทุกอย่างให้ชัดเจนจะมีผลดีกับประเทศมากกว่าเดินหน้าประมูลตามกำหนด

กทช.ยืนยันไม่กีดกันกลุ่มทุนใหม่

นายประเสริฐ อภิปุญญา รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กล่าวว่า มูลค่าใบอนุญาตนี้เป็นไปตามการคำนวณตามหลักเศรษฐศาสตร์ โดยมูลค่ารวมช่วงคลื่น 45 เมกะเฮิรตซ์ ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท เมื่อแบ่งย่อยออกเป็น 4 ช่วง และคิดตามอายุใบอนุญาตคือ 15 ปีตามที่กำหนดไว้ในร่างเกณฑ์ประมูลนี้นำมาหักค่าลดทอนความเสี่ยงจากการ ดำเนินธุรกิจ 47% และระยะเวลาคืนทุน 9 ปี จึงได้ราคาเริ่มต้นที่เหมาะสม ดังนั้นจึงสามารถกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และไม่เป็นการกีดกันผู้ประกอบการรายเล็ก

“ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ต่อการประมูล 3 จี ถือเป็นประเด็นระดับชาติ แนวทางที่ถูกต้องเหมาะสมคือต้องเปิดโอกาสให้เกิดการแข่งขันตามกลไกตลาด”

เขากล่าวว่า ขณะนี้ไทยมีข้อตกลงทางการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านทั้งอาเซียน และข้อตกลงระหว่างประเทศระดับอื่นๆ รวมถึงด้านโทรคมนาคม เพราะฉะนั้นทุกฝ่ายทั้งรัฐบาล ฝ่ายปฏิบัติทางเทคนิค การกำกับดูแล ควรจะต้องประสานงานกันบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม ให้เกิดความชัดเจน และได้ประโยชน์ร่วมกันอย่างเต็มที่

Source: Link

Leave a comment