สหภาพฯ ทีโอที-กสท ยื่นหนังสือต่อนายกฯ คัดค้านการประมูลคลื่นความถี่ 3 จี

สหภาพฯ ทีโอที-กสท ยื่นหนังสือต่อนายกฯ คัดค้านการประมูลคลื่นความถี่ 3 จี เพราะมี กทช.แค่ 3 คน จากที่ กม.กำหนดไว้ 7 คน จึงไม่ควรรีบเร่งเปิดประมูลเรื่องใหญ่ที่มีความสำคัญต่อทิศทางการให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศในอนาคต พร้อมแสดงความเป็นห่วงเรื่องความมั่นคง หากยักษ์ใหญ่ต่างชาติได้สัมปทานไป

 มีรายงานข่าวว่า สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านการประมูลคลื่นความถี่ 3 จี ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ให้กับบริษัทเอกชนสัญชาติต่างด้าวเข้ามาประมูล และได้รับสิทธิเป็นเจ้าของคลื่น 3 จี
          ทั้งนี้ สหภาพแรงงานฯ ทั้ง 2 บริษัท ให้ความเห็นว่า การที่ กทช.มี เพียง 3 คน จาก 7 คน ตามที่กฎหมายกำหนด แล้วจะพิจารณาอนุมัติในเรื่องสำคัญของชาติที่มีผลต่อความมั่นคง ดังนั้น กทช.ไม่ควรรีบเร่งเปิดประมูลเรื่องใหญ่ที่มีความสำคัญต่อทิศทางการให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศในอนาคต      
       นอกจากนี้ กติกาการประมูลยังไม่ชัดเจน เพราะเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนสัญชาติต่างด้าวเข้าประมูล แต่ปิดกั้นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ได้แปรรูปมาแข่งขันกับเอกชนอย่าง กสช. และ ทีโอที
        ก่อนหน้านี้ ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที กล่าวถึงการที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. กำลังเตรียมการเปิดประมูลคลื่นความถี่ 3G โดยระบุว่า ทางกระทรวงไอซีทีและสององค์กรรัฐวิสาหกิจ ด้านโทรคมนาคมของประเทศ ได้แก่ กสท และ ทีโอที ยังไม่เห็นด้วยกับการเปิดประมูลคลื่นความถี่ 3G ใหม่อีกจำนวน 2.1 กิ๊กกะเฮิร์ต เนื่องจากขณะนี้ทางทีโอทีซึ่งเป็นองค์กรของรัฐใกล้จะเปิดให้บริการ 3G ในปลายปีนี้แล้ว และการเร่งประมูลคลื่นความถี่ของ กทช. จะเป็นการเปิดทางให้เอกชนที่ประมูลคลื่นความถี่แข่งขันกับทีโอทีมากเกินไป จนอาจจะกระทบต่อรายได้ของทีโอที ซึ่งหากทีโอทีมีรายได้ลดลงก็หมายถึงรายได้ของประเทศจะลดลงตามไปด้วย
       
       รมว.ไอซที กล่าวอีกว่า คลื่นความถี่ทุกประเภทเป็นสมบัติของประเทศ และการเปิดประมูลแบบเสรีของ กทช. อาจมีโอกาสที่จะถูกแทรกแซงการประมูลโดยชาวต่างชาติได้ ถึงแม้ว่า กทช.จะยืนยันว่ามีกฎเกณฑ์ด้านการลงทุนของคนต่างด้าวให้สามารถถือหุ้นได้ไม่เกินครึ่งหนึ่งก็ตาม แต่ก็อาจจะมีการหลบเลี่ยงข้อกฎหมายได้ และหากชาวต่างชาติสามารถประมูลคลื่นความถี่ 3G ซึ่งเป็นของประเทศไทยไปได้ อาจจะมีผลกระทบอื่นๆ ตามมาอีก เช่น อาจจะมีราคาค่าบริการที่สูงจนเป็นการผลักภาระไปสู่ผู้บริโภค ที่สำคัญอาจจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงระดับประเทศ เนื่องจากต่างชาติที่เป็นผู้ลงทุนจะทราบความเคลื่อนไหวของระบบโครงข่ายโทรคมนาคมของไทยอย่างละเอียด

 

ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์ / 13 ตุลาคม 2552

Leave a comment