การแพทย์ทางไกล ต้องใช้ 3G

December 10, 2009

ปรกติเรามักจะคุ้นเคยกับระบบ 3G ในแง่ของการใช้งานด้าน Wireless Broadband, Video Call หรือการ download บรรดา content ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน แต่นั่นเป็นเพียงแค่มุมมองในแง่ของการใช้งานด้านหนึ่ง ขณะเดียวกันประโยชน์เชิงลึกของ 3G ยังมีมากกว่านั้น ไม่ว่าจะไม่ว่าจะเป็นด้านของเศรษฐกิจ การพัฒนาประเทศ การศึกษา รวมถึงด้านสาธารณสุข ซึ่งเป็นด้านที่น้อยคนจะตระหนักถึง

Concept ของ Telehealth คือ เรื่องของอุปกรณ์วัดค่าตัวเลขระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกาย ที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์ที่ติดตั้งอยู่บนส่วนต่างๆ ของร่างกายเรา เพื่อส่งข้อมูลแบบ realtime กลับไป ให้แพทย์ ข้อมูลที่ถูกส่งกลับมีทั้งที่เป็นข้อมูล ที่เป็นพื้นฐาน เช่น ความดันโลหิต แต่บางข้อมูลที่ต้องการความละเอียดแม่นยำสูง เช่น คลื่นหัวใจ คลื่นสมอง พวกนี้ต้องอาศัยการส่งสัญญาณแบบ realtime และต้องการระบบการสื่อสารที่มี bandwidth ในการรับส่งข้อมูลที่กว้าง รวมถึงมีความเร็วสูง เมื่อเปรียบเทียบดูแล้วเราอาจมองว่าร่างกายคนเราก็เหมือน laptop เครื่องหนึ่งก็ว่าได้

ในปัจจุบันเรามีการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีของโครงข่าย 3G ทางการแพทย์ในหลากหลายประเทศ เช่น ไนโรบี เคนยา เปรู ในประเทศไทยเองก็มีโครงการสาธิตที่ร่วมกับ พอ.สว. ที่พังงา เป็นการนำเทคโนโลยี Telehealth มาใช้ในการแพทย์ ด้วยการนำอุปกรณ์ที่เป็นเครื่องมือแพทย์ไปเชื่อมต่อกับโครงข่าย 3G ซึ่ง ณ เวลานั้นเป็นโครงข่ายของ กสท การใช้งานจริงจะเป็นการส่งข้อมูลจากอุปกรณ์แพทย์เครื่องนั้นๆ ผ่านโครงข่าย 3G เช่นเครื่องตรวจสภาพผิว ตรวจวัดคลื่นหัวใจ ซึ่งติดตั้งกล้องที่มีความละเอียดสูงและสามารถส่งข้อมูลแบบ realtime ได้ ไม่ว่าหมอกับผู้ป่วยจะอยู่ไกลกันแค่ไหนก็สามารถส่งข้อมูลถึงกันได้

เหตุที่ต้องการโครงข่าย 3G เพราะว่ารูปแบบของการโอนถ่ายข้อมูลจะเป็นแบบการส่งและรับพร้อมๆ กัน ซึ่งโครงข่าย 2G ในปัจจุบันไม่สามารถทำได้ สำหรับ Telehealth ของ พอ.สว. จะมีเพียงแค่  webcam, notebook computer ที่ต่อกับอุปกรณ์ของ กสท. ที่ใช้โครงข่าย 3G ของ กสท เน้นการใช้งานเพื่อตรวจโรคผ่านทาง webcam เท่านั้น แต่ก็มีการนำมาประยุกต์ใช้กับการรักษาพยาบาล case สำคัญๆ บ้าง เช่น การปรึกษาแพทย์ในโรงพยาบาลใหญ่ประจำจังหวัด

โครงการของ พอ.สว. มีการทำทั้งหมด 9 จังหวัดผ่านทาง 3G ภายใต้วัตถุประสงค์หลักคือการทำ Video Call ซึ่งโครงข่ายอื่นๆ ยังไม่สามารถรองรับได้ โครงการนี้หากขยายความจะสอดคล้องกับโครงการของรัฐบาลที่ต้องการทำ Telehealth กับสถานีอนามัยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เหตุผลในการทำโครงการของ พอ.สว. ที่ดูแล้วค่อนข้างจะ basic อยู่ มากนั้น เพราะว่าคนในชนบทห่างไกลยังขาดความรู้ความชำนาญในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้การใช้งานสามารถทำได้เพียงแค่ปรึกษาแพทย์เท่านั้น จากการสังเกตการณ์โครงการที่พังงาจะพบว่า ต้องอาศัยการอบรมค่อนข้างมาก

ใน ส่วนของการทำโครงการสาธิตจะครอบคลุมพื้นที่ 2 โรงพยาบาล และ 2 สถานีอนามัย ในจังหวัดพังงา ซึ่งตอนนี้ก็ใช้งานได้จริงและดำเนินไปได้ด้วยดีทั้งที่สถานีอนามัยเกาะ ปันหยี และสถานีอนามัยบ้านพรุใน ล่าสุด กทช. ก็ร่วมสนับสนุนโครงการดังกล่าวด้วยการเข้ามาให้ความรู้กระตุ้นให้เกิดความตื่นตัว และตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ 3G กับ ระบบสาธารณสุข เหตุที่เลือกสนับสนุนสาธารณสุขที่พังงาเพราะบรรดาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ นี่มีความตื่นตัวเรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะแพทย์ที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่นี้ มีความสนใจในเทคโนโลยีใหม่ๆ และตื่นตัวกับกระแสเทคโนโลยีอยู่เสมอ  นายแพทย์มารุต เหล็กเพชร ผู้อำนวยการศูนย์แพทย์ชุมชนพรุใน เกาะยาวใหญ่ หรือหมอนิล ของชาวบ้าน  หรือ ที่รู้จักกันดีในนามปากกา นฆ ปักษานาวิน ซึ่งใช้กับงานเขียนหลากหลาย เพื่อเผยแพร่งานทางวิชาการทางการแพทย์และสารธาณสุขฉบับชาวบ้าน  ได้เป็นแพทย์ชนบทไทยคนแรกๆที่เปิดรับผ่านโครงข่าย 3 G ด้วยวิธีการรักษาที่นำเทคโนโลยี Telehealth มาประยุกต์ใช้ในการรักษาผู้ป่วยตามแบบฉบับของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งข้อมูลของอาการป่วยผ่านเทคโนโลยีระบบ CDMA ไปยังโรงพยาบาลใหญ่ เช่น โรงพยาบาลเกาะยาวชัยพัฒน์ หรือโรงพยาบาลที่อยู่บนฝั่ง เป็นต้น

หากเทียบกับประเทศอื่นที่มีโครงการในลักษณะเดียวกัน ส่วนใหญ่จะมีความคล้ายคลึงกับ พอ.สว. เช่น เปรู มีการนำ laptop และอุปกรณ์ต่างๆ มอบให้กับแพทย์อาสาสมัครเพื่อใช้งาน และติดต่อสื่อสาร ไปจนถึงการเก็บประวัติของคนไข้ เพื่อสนับสนุนการทำงานของแพทย์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ในประเทศเคนยา มีการนำเทคโนโลยี 3G เข้ามาช่วยในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV หรือ เอดส์ ทั้งนี้อ้างอิงจากผลสำรวจโดยกระทรวงสาธารณสุขประเทศเคนยา พบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อ HIV อยู่ประมาณ 392,000 ราย ที่ต้องการการรักษาแบบเร่งด่วน นอกจากนี้ผลสำรวจยังแสดงให้เห็นถึงตัวเลขกว่า 8.7% ของสตรีชาวเคนยาที่มีอายุระหว่าง 15-64 ปี อยู่ในกลุ่มผู้ติดเชื้อ HIV

จากผลสำรวจดังกล่าวทำให้เกิดการพัฒนาโครงการนำร่อง ที่จะใช้ประสิทธิภาพของเทคโนโลยี 3G มาช่วยในการรักษาผู้ป่วย ตัวโครงการจะประยุกต์ใช้จุดแข็งของเทคโนโลยี 3G มาช่วยเสริมประสิทธิภาพของการรายงานผล และให้การรักษาด้วยยา

ในขณะที่ประเทศสเปนมีการตั้งโครงการ 3G for All Generations ที่จะเข้ามาเป็นโซลูชั่นในการดูแลผู้สูงอายุที่มีมากกว่า 7 ล้านคนในสเปน เนื่องจากกลุ่มผู้สูงอายุในสเปนมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในแถบชนบท 3G for All Generation จึงมีการตั้งเป้าไว้สำหรับการดูแลสวัสดิการผู้สูงอายุ จำนวน 100 คน ให้พึ่งพาตนเองได้ และสามารถติดต่อสื่อสารกับบุคคลภายนอกได้โดยใช้โครงข่าย 3G

โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง Vodafone Spain Foundation และ Spanish Red Cross ที่ต้องการผลักดันให้ผู้สูงอายุมีสภาพจิตใจที่ตื่นตัว สามารถปรับสภาพเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้  โครงการดังกล่าวได้มอบอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ให้กับผู้สูงอายุเหล่านี้ ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้นานขึ้น  สามารใช้ชีวิตอยู่ในบ้านของตนเองได้ตามลำพัง และปรับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โซลูชั่นที่โครงการมอบให้จะประกอบด้วย Video Conference และ Video Call รวมถึงการdownload บรรดา  Multimedia Content นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์จำเป็นอื่นๆ อีกเช่น โทรทัศน์ เครื่องโทรศัพท์พื้นฐาน การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตด้วยเทคโนโลยี 3G data card จาก โวดาโฟน โมเด็ม และ โทรศัพท์มือถือ 3G

เช่นเดียวกับประเทศเปรู ที่มีการตั้งโครงการ Kausay Wasi Health Clinic ที่เอื้อประโยชน์ในการติดต่อสื่อสารกับคลินิกในพื้นที่ห่างไกล โครงการนี้ตั้งอยู่ที่สำนักงานสาธารณสุขในหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อ Coya ที่อยู่ห่างจากโบราณสถาน Machu Picchu, หลายชั่วโมงหากเดินทางโดยรถ

โครงการ นี้มีคณะแพทย์อาสาจากสหรัฐอเมริกาบินตรงมาเพื่อดูแลชนพื้นเมืองที่สืบเชื้อ สายจากชนเผ่าอินคา เนื่องจากหมู่บ้านแห่งนี้อยู่ในสถานที่ไกลและกันดารจนไม่สามารถเข้าถึงระบบ การสาธารณสุขได้ โครงการนี้ใช้การมอบอุปกรณ์เทคโนโลยีพื้นฐานมาประยุกต์ใช้ในการดูแลรักษาผู้ ป่วย อาทิ laptop computer โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์ไอทีอื่นๆ ที่จำเป็น ปัจจุบันคลินิกแห่งนี้สามารถติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้จากทุกมุมโลก

ด้าน สหรัฐอเมริกา ก็มีการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาใช้ประยุกต์ในการทำศัลยกรรมผิวหนังเช่น เดียวกัน ด้วยการผสานเทคโนโลยีของหุ่นยนต์เข้ากับเทคโนโลยี 3G EV-DO Rev A ที่ทำให้ศัลยแพทย์ผิวหนังที่ไมอามี่ สามารถควบคุมหุ่นยนต์ดังกล่าวที่อยู่ใน Ryder Trauma Center ได้

หุ่นยนต์ InTouch Health RP-7 และแล็บท็อปที่มีการติดตั้งระบบปฏิบัติการพิเศษ จำนวน 5 ชุด พร้อมดาต้าการ์ด EV-DO Rev A ถูกบริจาคให้กับ William Lehman Injury Research Center ทำให้ศัลยแพทย์สามารถควบคุมหุ่นยนต์นี้ได้อย่างอิสระในการดูแลผู้ป่วยได้ถึง ข้างเตียงเพื่อทำการตรวจรักษารวมถึงให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยได้อย่างละเอียด พร้อมกับพยาบาลที่ถูกฝึกมาเป็นพิเศษเพื่อการนี้โดยเฉพาะ

ในการทำระบบ Telehealth ใน อนาคต คาดว่าการดูแลผู้ป่วยจะมีมาตรฐานที่ดียิ่งขึ้น โดยที่คนไข้ไม่จำเป็นต้องนอนรอแพทย์เป็นเวลานานๆ อีกต่อไป เพียงแค่อาศัยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เช่น หุ่นยนต์ที่ติดตั้งอุปกรณ์รับส่งสัญญาณ 3G ไว้ ให้แพทย์สามารถบังคับจากระยะไกลได้จากทุกมุมโลก แล้วในห้องผู้ป่วยมีเพียงพยาบาลที่คอยดูแล และแจ้งอาการต่างๆ ไปจนถึงรับคำแนะนำจากแพทย์ผ่านทางหน้าจอมอนิเตอร์ที่ติดตั้งไว้บนหุ่นยนต์ ตัวนั้นๆ ที่สำคัญยังสามารถส่งข้อมูลอาการป่วยของผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่ใหญ่กว่า และมีอุปกรณ์พร้อมกว่า เพื่อขอรับคำปรึกษาแนะนำจากแพทย์ในโรงพยาบาลนั้นๆ โดยไม่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแต่อย่างใด

นับเป็นมิติใหม่ ในวงการแพทย์เลยทีเดียว หากระบบ 3G ถูก นำมาใช้ เพราะโอกาสในการยืดอายุขัยของมนุษย์ จะเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ เพียงแต่โครงข่ายนั้นจะต้องเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมเสียก่อน ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นของใคร ขอให้ประโยชน์มาตกที่ประชาชนก็แล้วกัน

ขอขอบคุณ บริษัท ควอลคอมม์ อินเตอร์เนชั่นแนล อินคอร์ปอเรทเต็ด อิงค์ ที่เอื้อเฟื้อข้อมูล

รู้จักกับ Telehealth ของไทย

ในขณะที่ต่างประเทศ มีการใช้งานระบบ Telehealth กัน แล้ว ประเทศไทยของเราก็ไม่น้อยหน้าเช่นกัน ด้วยความช่วยเหลือจาก บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ร่วมกับคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ ONFEC บริษัท Axesstel Inc., และบริษัท ควอลคอมม์ อินเตอร์เนชั่นแนล อินคอร์ปอเรทเต็ด อิงค์ ทำให้โครงการนำร่องโดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 3G ในการรักษาทางไกลเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ที่จังหวัดพังงา

โครงการ Telehealth ที่ พังงามีรูปแบบการดำเนินงาน โดยให้สถานีอนามัยเกาะปันหยี และสถานีอนามัยบ้านพรุในเกาะยาวใหญ่ ที่ถือเป็นชุมชนพื้นที่ห่างไกล สามารถติดต่อสื่อสารกับโรงพยาบาลบนแผ่นดินใหญ่ได้ โดยอาศัยอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยี Telemedicine และ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ในการดำเนินการรักษาผู้ป่วยในเบื้องต้นด้วยระบบกล้องที่ติดตั้งมาในอุปกรณ์ ตรวจสอบตา, อุปกรณ์ตรวจสอบหู คอ จมูก, อุปกรณ์ตรวจสภาพผิวหนัง, อุปกรณ์ตรวจสอบการทำงานหัวใจและปอด และอุปกรณ์ตรวจวัดคลื่นหัวใจ พร้อมกับ desktop computer และ notebook ที่มาพร้อมกับอุปกรณ์การเชื่อมต่อ wirelessความเร็ว สูง สำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการแพทย์ ระหว่างสถานีอนามัยทั้งสองแห่ง กับ โรงพยาบาลหลักในจังหวัดพังงา ด้วยเทคโนโลยีการเชื่อมต่อแบบ EV-DO ทำให้การเชื่อมต่อโครงข่ายเป็นแบบ realtime

ปัจจุบัน โครงการดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการดำเนินงานใช้งานจริง โดย นาย แพทย์มารุต เหล็กเพชร ผู้อำนวยการศูนย์แพทย์ชุมชนพรุใน เกาะยาวใหญ่ ที่อุทิศตัวให้กับการดูแลรักษาผู้ป่วยและชาวบ้านในท้องที่ให้มีคุณภาพชีวิต ที่ดีขึ้น โดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาประกอบการรักษา

“Telehealth ทำให้ การรักษาพยาบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงยกระดับมาตรฐานการให้บริการต่างๆ ต่อผู้ป่วยมีความถูกต้อง แม่นยำยิ่งขึ้น และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปถึงโรงพยาบาลใหญ่บนฝั่ง เพราะ Tele Health ทำให้แพทย์ที่พรุไน สามารถสื่อสารและขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้ชำนาญจากโรงพยาบาลใหญ่ได้ทันทีนายแพทย์มารุต กล่าว

หมอจักรกล

โดยปกติเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าขึ้นทุกวันอย่างไม่หยุดยั้ง แต่ใครจะเชื่อว่าสิ่งที่เราพบเห็นจนชินตาในภาพยนตร์ sci – fi จะกลายเป็นความจริงให้เราได้สัมผัสกัน เมื่อเทคโนโลยีการสื่อสารถูกนำมาผนวกกับเทคโนโลยีด้านจักรกล ในที่นี้คือการนำเทคโนโลยี 3G เข้ามาผนวก convergence เข้ากับนวัตกรรมด้าน robot

รูปแบบการรักษาด้วยระบบนี้ แพทย์จะทำการควบคุม robot จากระยะไกล ในการตรวจอาการผู้ป่วย และให้คำปรึกษารวมถึงส่งข้อมูลแลกเปลี่ยนกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ แบบ realtime ในขณะที่คนไข้มีเพียงแค่พยาบาลคอยดูแลและรับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น

ระบบ นี้กล่าวได้ว่า เป็นนวัตกรรมใหม่ของวงการแพทย์ก็ว่าได้ เนื่องจากตัวเทคโนโลยีมีการอำนวยความสะดวกสบายให้กับทั้งแพทย์และผู้ป่วย โดยที่แพทย์ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาถึงโรงพยาบาล หรือรอให้ถึงเวลาเข้าเวร และผู้ป่วยเองก็ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการรอคอยให้แพทย์เข้าเวรเพื่อมาตรวจดู อาการ

โดยส่วนตัวเชื่อว่าระบบนี้ น่าจะได้รับความนิยมจากโรงพยาบาลใหญ่ๆ ในอนาคตอันใกล้ ขอเพียงแค่ปัจจัยเดียวเท่านั้น นั่นคือ ระบบโครงข่าย 3G 


“ศุภชัย”เชื่อ3Gพลิกโฉมอุตฯสื่อสาร

December 10, 2009

“ศุภชัย” ชี้อุตสาหกรรมสื่อสารปีหน้าไม่โต ถ้า 3G ไม่เกิด เชื่อ 3G จะพลิกโฉมอุตสาหกรรมโทรคมไทย ผู้ใช้จะบริโภคแบนด์วิธจำนวนมหาศาล ประกาศความพร้อมลงทุน 3G ด้วยเงินลงทุนปีละกว่าหมื่นล้านบาท

นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวถึงภาพรวมอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยว่า อุตสาหกรรมสื่อสารจะขยับตามภาวะเศรษฐกิจ แต่ถ้า 3G ไม่เกิดอุตสาหกรรมนี้จะไม่โต แต่ถ้าเทคโนโลยีนี้เกิดจะทำให้เกิดมิติใหม่ของอุตสาหกรรม เพราะจะทำให้คนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้น

นอกจากนี้รัฐบาลและเอกชนต้องร่วมมือกันเพื่อประยุกต์เรื่องของ เทคโนโลยีกับโนว์ฮาวเข้าด้วยกัน แล้วให้เอกชนเป็นผู้ผลักดัน ขณะเดียวกันหากภาครัฐให้การสนับสนุนเรื่องโน้ตบุ๊กก็จะทำให้การเข้าถึง อินเทอร์เน็ตทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะทำให้มีการใช้แบนด์วิธ (ความถี่) เกิดขึ้นจำนวนมหาศาล

“อุตสาหกรรม สื่อสารไทยมีอะไรให้ทำอีกมาก แต่ภาครัฐต้องมีความชัดเจนว่าต้องทำอย่างไรจะให้บรอดแบนด์เข้าถึงผู้บริโภค ถ้าเร่งเรื่องพวกนี้ได้จะทำให้สังคมไทยมีความยั่งยืนได้”

สำหรับการลงทุนของทรูเฉลี่ยปีละประมาณ 8 พันล้านบาท เป็นการลงทุนในส่วนของธุรกิจโทรศัพท์มือถือ 50% แต่ถ้าได้ใบอนุญาต 3G ก็จะมีการลงทุนเพิ่มอีกปีละ 5 พันล้านบาท โดยเป็นการระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์หรือเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นก็ได้ ซึ่งกลุ่มทรูมีความพร้อมที่จะลงทุนอยู่แล้ว เพราะมีรายได้ก่อนหักภาษีทั้งปีกว่า 2 หมื่นล้านบาท ทำให้มีศักยภาพในการลงทุนปีละ 9 พันล้านบาทถึง 1หมื่นล้านบาท
ส่วนรายได้ธุรกิจโทรศัพท์มือถือนั้นคาดว่าภายใน 3 ปีสัดส่วนบริการด้านข้อมูล (นอนวอยซ์) จะมากกว่า 50%

พร้อมกันนี้ กลุ่มทรูยังได้เปิดเว็บไซต์ http://www.trueplookpanya.com ซึ่งเป็นคลังความรู้ดิจิตอลในรูปแบบมัลติมีเดียที่ผสมผสาน ระหว่างสื่อการนำเสนอที่น่าสนใจ กับสาระการเรียนรู้ในหลากหลายสาขาวิชา สร้างแหล่งการเรียนรู้แนวใหม่สำหรับเยาวชนไทยทั่วประเทศให้สามารถเข้าถึง ข้อมูลความรู้และภูมิปัญญาได้อย่างทัดเทียมกัน

ด้วยเนื้อหาในหลายหมวดครอบคลุมทุกความสนใจ เช่น คลังความรู้ คลังข้อสอบ ความรู้คู่คุณธรรม สารพันความรู้ สนามเด็กเล่น สนามปัญญา และกิจกรรมในโครงการทรูปลูกปัญญา โดยมุ่งเปิดโลกทัศน์และสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ให้ผู้เข้าเว็บไซต์เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ เพื่อสร้างสรรค์ แลกเปลี่ยนและแบ่งปันเนื้อหาการเรียนรู้ร่วมกันตลอดเวลา พร้อมเชิญชวนคณาจารย์ ผู้ปกครอง และเยาวชนไทย เข้าร่วมแบ่งปันข้อมูลความรู้บนเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่สู่สังคมได้

ส่วนการลงทุนในส่วนของเว็บไซต์ทรูปลูกปัญญานี้ใช้งบประมาณ 20 ล้านบาท จากงบทั้งหมดเกี่ยวกับโครงการปลูกปัญญาของกลุ่มทรูที่ตั้งไว้ปีละ 50-80 ล้านบาท

“เราเห็นว่าการทำตรงนี้เป็นซีเอสอาร์รูปแบบหนึ่งและจะเป็นจุดที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับนักเรียนนักศึกษาได้”


“คนหูหนวก”ยิ้ม เตรียมใช้ 3G ทีโอที

December 10, 2009

ทีโอทีเปิดบริการ 3G เอื้อประโยชน์ผู้พิการทางหูให้สื่อสารถึงกันไร้ขีดจำกัด ผ่านการส่งภาษามือด้วยโทรศัพท์ยุคใหม่ สื่อสารแบบเห็นหน้า ช่วยยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารของไทย

นายวรุธ สุวกร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที กล่าวว่า การเปิดให้บริการ 3G ในระยะแรกให้บริการในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะต่อไปจะให้บริการครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ จะช่วยเพิ่มโอกาสทางการสื่อสารให้แก่คนหลากหลายกลุ่ม ในจำนวนนี้ คือกลุ่มผู้พิการทางหู ซึ่งใช้การสื่อสารด้วยภาษามือ ต่อไป 3G จะช่วยให้พูดคุยกันได้แบบเห็นหน้า สามารถส่งภาษามือโต้ตอบกันไปมาได้เหมือนจริง

ปัจจุบัน กลุ่มผู้พิการในประเทศไทยมีประมาณ 1.9 ล้านคน เป็นผู้พิการทางหูประมาณ 200,000 คน ในจำนวนนี้มีผู้ได้รับการศึกษาในขั้นอุดมศึกษาประมาณ 5,000 คน จากผลการวิจัยพบว่า คนหูหนวกประมาณ 80% มักออกนอกบ้านเมื่อมีเวลาว่างเพื่อไปพบกลุ่มคนหูหนวกด้วยกัน การสื่อสาร 3G จะช่วยให้คนกลุ่มนี้ติดต่อสื่อสารกันได้มากขึ้น สามารถเชื่อมต่อกับล่ามภาษามือผ่านโทรศัพท์มือถือเพื่อสื่อสารกับบุคคลอื่น ได้ด้วยเช่นกัน

ประเทศไทยมีความพยายามจากหลายหน่วยงานเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้พิการ หนึ่งในนั้นคือ การพัฒนาโปรแกรมสนทนาผ่านระบบออนไลน์ (Net Meeting) สำหรับผู้พิการทางหูให้สามารถติดต่อสื่อสารกับผู้พิการทางหูด้วยกันและคน ปกติ รวมทั้งสื่อสารแบบ 3 คนพร้อมกัน กับล่ามภาษามือ ซึ่งเป็นโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นโดยคนไทย

นอกจาก นี้ ยังมีการพัฒนาโปรแกรมสำหรับการอ่านหนังสือของผู้พิการทางสายตาซึ่งพัฒนาขึ้น โดยคนไทยเช่นกัน เพื่อช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสามารถดาวน์โหลดหนังสือจากเครื่องคอมพิวเตอร์ ได้ เมื่อมีการให้บริการ 3G ซึ่งมีความเร็วในการเชื่อมต่อสูง การขยายตัวของสื่อสำหรับผู้พิการจะพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทั้งการออกแบบโปรแกรมใหม่ๆ และการพัฒนาจากโปรแกรมเดิม


โทรคมฯไทยกำลังจะมี’นาธาน’!

December 2, 2009

หลงชื่นชมทีโอทีว่ามี แนวคิดใหม่ๆในการแข่งขันกับเอกชน โดยเฉพาะการเปิดบริการ 3G เฟสแรกใน กทม.ว่าแจ๋วจริง เพราะวางตัวเองเป็นเน็ตเวิร์กโพรวายเดอร์ สร้างโครงข่ายที่ดี แล้วให้เอกชนมาช่วยทำตลาดในลักษณะเป็น MVNO

แต่กลายเป็นว่า ยังไม่ทันเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 ธ.ค.นี้ ก็กำลังจะตกม้าตายกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นค่าบริการที่ขายส่งให้ MVNO เพื่อขายปลีกไปให้ลูกค้าทั่วไป ที่คิดค่าบริการที่สูงลิบอย่างวอยซ์ขายส่งนาทีละ 60 สตางค์หรือถ้าข้ามโครงข่ายต้องมีค่าไอซี ก็คิดนาทีละบาทกว่าๆ หรือดาต้าที่ขายส่งให้ประมาณ 2 บาทต่อเมกะไบต์หรือคิดนาทีละ 1-2 บาทก็แทบไม่ต้องเอาไปขายต่อแล้ว ทำเอา MVNO หลายๆ รายส่ายหน้าว่าถ้าจะเหนื่อยและโตยาก หากไม่เปลี่ยนแนวคิดจากรอดคนเดียว เป็นรอดยกพวง โตทั้งแผง

แต่อีกเรื่องที่จะกลายเป็นบูมเมอแรง ขว้างไปยิ่งแรงยิ่งกลับมาเร็ว เพราะได้ยินว่าผู้ บริหารทีโอที รับคำสั่งจากผู้ยิ่งใหญ่ ‘พ’ เพื่อแผ่นดิน สั่งห้ามไม่ให้บริษัท 365 คอมมูนิเคชั่น เซ็นสัญญาเป็น MVNO ทั้งๆที่มีการวางเงินค้ำประกัน และมีการให้สัมภาษณ์รับรู้กันเป็นวงกว้างไปทั่วแล้วว่า MVNO จะมี 5 รายคือไอ-โมบาย ล็อกซเล่ย์ 365 เอ็มคอนซัลต์และไออีซี

นัยว่าการเมืองไม่ได้อะไร ก็อย่ามาเซ็นสัญญาให้เมื่อยตุ้ม ไม่ใช่เหตุผลเครื่องหมายการค้าหรือลิขสิทธิ์ทำให้ยังไม่ได้เซ็นสัญญาอย่าง ที่อ้างถึงแต่ประการใด

ยิ่งถ้าหากผู้ยิ่งใหญ่ท่านนั้นเปิดเว็บเป็น ลองเข้าไปดูที่เว็บ 365.co.th หน่อย เพราะ MVNO รายนี้ทำการตลาดบนเว็บ อาศัยโซเชียลเน็ตเวิร์ก ให้คนที่สนใจจะลองใช้ 3G ลงทะเบียน ปรากฏว่าจนถึงตอนนี้มีคนสมัครแล้วกว่า 2 หมื่นคน จนต้องปิดการแจกซิม 3G ล็อตแรก และให้ลงชื่อจองล็อตที่ 2 ต่อไป

โดย 365 ตั้งใจจะแจกซิม 3G จำนวน 1 หมื่นคน โดยให้ 1 พันคนแรกไปรอรับซิมที่เซ็นทรัลเวิลด์ แต่ 365 กำลังจะกลายเป็น ‘นาธาน’ ภาคโทรคม ไม่ได้ผุดได้เกิดในวงการ  เพราะถูกการเมืองสั่งห้ามเซ็นสัญญา MVNO

งานนี้คงวุ่นวายน่าดู และถ้าจะด่า อย่าด่าทีโอทีหรือ 365 เลย เผาพริกเผาเกลือ อวยพรให้ท่าน ‘พ’ จะดีกว่า

Source: Link


3 ดาบไร้เทียมทาน ฤาจะสยบ 3G, Thailand’s Pilot Project of the Decade ?!!

December 2, 2009
ทำงานเป็นสื่อประจำวงการโทรคมนาคมไทยมา 18 ปี เห็นโครงการใหญ่ๆ ระดับหลายหมื่นล้านของประเทศนี้มาก็หลายบางโครงการเป็นตำนานเล่าขาน และก่อเกิด”คนสำคัญ” ในวงการมากมาย แต่ต้องบอกว่า ในรอบสิบปี ไม่น่าจะมีโครงการไหนทรงความสำคัญ เป็นที่รอคอย เท่าโครงการ3G !!!
แต่…ไม่มีอุปสรรค ไม่ลากยาว ไม่สาวไส้กันล่อนจ้อน ก็ไม่ใช่ประเทศนี้ ประเทศไทย!!โครงการ 3G ที่หลายคนตั้งความหวัง….หวัง…และรอคอย จนบางคนที่เริ่มลุ้นโครงการตั้งแต่ยังจีบกับแฟน จนตอนนี้ลูกเข้าอนุบาลแล้ว ก็ยังจะต้องลุ้นกันต่อไป ให้มันได้ยังงี้ซีน่า… ประเทศไทย!!

เหตุการณ์ที่ปะทุขึ้นอย่างต่อเนื่องสำหรับกรณีการออกใบอนุญาตโทรศัพท์ เคลื่อนที่ 3G ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นับตั้งแต่การเปิดรับฟังความคิดเห็น 3G and Beyond ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)จนถึงปัจจุบัน ดูราวกับมีอ้ายโม่งฝีมือชั้นเซียนซ่อนเร้นเป็นผู้กำกับฉากอยู่เบื้องหลัง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเลื่อนกระบวนการออกใบอนุญาต3G ออกไป พร้อมกับพยายามสร้างเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ราย เดิมทั้ง AIS, DTAC และ TRUE ซึ่งทำธุรกิจโทรศัพท์2G ต้องหนึบอยู่กับสัญญาสัมปทานเดิมหรืออาจเป็นไปได้ว่าอ้ายโม่งต้องการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่มี อะไรๆ ที่ลงตัวกับตนสามารถเดินเข้าประมูลใบอนุญาต 3G โดยไม่ต้องมีการแข่งขันกับผู้ประกอบการรายเดิม แถมยังได้ใบอนุญาตด้วยราคาที่ถูกมากๆ

และแม้จะมีการแถลงข้อคิดเห็นจาก ครม.เศรษฐกิจ ให้กับ กทช. ไปแล้วหลายสัปดาห์ เมื่อกทช. ได้ทำการสนองตอบด้วยการเพิ่มประเด็นข้อหารือในเรื่องของการแปลงสัญญาสัมปทาน ของผู้ประกอบการเดิมก่อนเข้าร่วมประมูลใบอนุญาต 3G ใหม่ ลงในการเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ที่ดูเป็นสัญญาณความคืบหน้าเกิดขึ้น แทบทุกฝ่ายในแวดวงโทรคมนาคมไทยไม่เชื่อว่า การแปลงสัญญาสัมปทานจะเกิดขึ้นได้ภายในเวลาอันสั้นด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่าการ แปลงสัญญาสัมปทานต้องเกิดขึ้นภายใต้ความยินยอมของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย อีกทั้งเชื่อว่าต้องใช้เวลานานมากและยังสุ่มเสี่ยงต่อการขัดกับรัฐธรรมนูญ

สภาพสุญญากาศที่เหมือนไม่มีผู้ใดออกหน้าเป็นเจ้าภาพเช่นนี้ จึงผลักดันให้ กทช.แสดงบทไม่รู้ร้อนรู้หนาว เดินหน้ากระบวนการออกใบอนุญาต 3G ต่อไป ซึ่งแปลความได้ว่าเป็นการไม่สนองตอบต่อสัญญาณที่อ้ายโม่งส่งผ่านออกมาจาก หลายๆ ช่องทาง ซ้ำร้ายไปกว่านั้น กทช. ยังตอกหน้ากลับไปยังอ้ายโม่งด้วยว่า”การแปลงสัญญาสัมปทานเป็นหน้าที่ของ กระทรวง ICT มิใช่หน้าที่ของ กทช.”หมาป่าออกโรง… ไล่ล่าลูกแกะ

เท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่อ้ายโม่งซึ่งรับบทเป็นผู้กำกับการแสดงละครเรื่อง “ดึงเวลา 3G” จะเกิดอาการไม่พอใจอย่างสุดขีด ที่ กทช. ไม่ยอมเล่นตามบทที่ตนเองเขียนไว้ ซึ่งเป้าหมายคือการเชือดคอผู้ประกอบการ 2G รายเดิมที่ฝันอยากจะมีใบอนุญาต 3G เป็นของตนเอง เพื่อหลุดพ้นจากสัญญาสัมปทาน “ทาส” ซึ่งเจ้าของสัมปทานที่เป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจไม่อยากให้ทาสหลุดพ้นมือหวังจะ ให้ทาสผู้ซื่อสัตย์ส่งส่วยรายได้ให้กับตนเองตลอดไปอีกนานแสนนาน… น่าเศร้าที่ส่วยก้อนนี้ไม่เคยกลับไปถือมือกระทรวงการคลังเต็มเม็ดเต็มหน่วย สักปี…แถมแว่วๆว่ากระทรวงการคลังเองก็เริ่มตะหงิดใจถึงส่วยที่ตกหล่นกลาง ทางเหล่านี้ ถึงขนาดที่พร้อมจะออกหลักเกณฑ์ขอเก็บค่าส่วนแบ่งรายได้สัมปทานเองโดยตรง โดยไม่ผ่านหน่วยงานรัฐวิสาหกิจทั้งสองราย กรรมใดใครก่อไว้ก็ดูกันไป… ส่วนตอนนี้เราจะกลับไปดูชะตากรรมของ “ทาส” และบทลงโทษของผู้กำกับที่กำลังสวมวิญญาณเป็นหมาป่ากันต่อไป

ผู้กำกับที่สวมจิตวิญญาณหมาป่าใจร้ายเมื่อเห็นว่าไม่สามารถควบคุม กทช. ได้ดังใจทั้งๆ ที่ได้ชักดาบออกมาขู่ถึง 2 เล่มแล้ว!! ดาบเล่มแรกคือการสร้างเงื่อนไขให้มีการแปลงสัญญาสัมปทานก่อนเข้าประมูล ตามด้วยดาบเล่มที่ 2 คือ ประเด็นเรื่องความมั่นคงของชาติซึ่งกำหนดท่าไม้ตายไว้ว่า หากมีหน่วยงานของรัฐเพียงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเสนอความเห็นว่า คุณสมบัติของผู้ประกอบการที่อยู่ในกระบวนการประมูลใบอนุญาต 3G มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติ เท่านี้ก็สามารถตัดสิทธิ์การเข้าประมูลได้โดยทันที… ในเมื่อดาบสองเล่มแรกไม่ขลังพอจะเบรก กทช. ได้ ก็ต้องชักดาบสามออกมา

การร่ายรำดาบเล่มที่สาม เริ่มต้นขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จากข่าวที่ว่า “คลังเตรียมไล่บี้ทีโอที-กสท เร่งนำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมกับเอกชนเข้า ครม. หลังคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความขัด พ.ร.บ. ร่วมทุนมา 2 ปี ยังไม่คืบหน้าเผยทำรัฐสูญเสียรายได้เกือบ 2 แสนล้าน พลิกหาช่องทางเรียกชดเชยจากเอกขน” (ข่าวจากไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2552)เนื้อข่าวบางส่วน ระบุว่า

“ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงการคลังว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเร่งรัดให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสทโทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ดำเนินการนำร่างแก้ไขสัญญาสัมปทานที่ทั้ง 2 องค์กรทำไว้กับบริษัทเอกชนเพื่อนำเสนอขออนุมัติต่อ ครม.และดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนปี2535 หลังคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยแล้วว่า การแก้ไขสัญญาดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายมา ตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สคร. ระบุว่า ทั้ง 2 รัฐวิสาหกิจทำสัญญากับบริษัทเอกชนรวม 10 สัญญา และแก้ไขเพิ่มเติมในสัญญาหลายครั้งนับตั้งแต่ปี 2533 ซึ่ง สคร.ได้ประเมินความเสียหายเบื้องต้นที่เกิดขึ้น โดย บมจ.ทีโอทีมีความเสียหายเป็นเงินประมาณ 87,390 ล้านบาท และ บมจ. กสท มีความเสียหายเป็นเงิน 50,645 ล้านบาท ไม่รวมกรณีจัดเก็บภาษีสรรพสามิตที่ให้หักจากค่าสัมปทานอีกราว40,000 ล้านบาท และความเสียหายจากการยกเลิกค่า Access Charge ไปอีกราว 14,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ สคร.ยังมีข้อสังเกตว่า เห็นสมควรให้กระทรวงไอซีที บมจ.ทีโอที และบมจ.กสท เร่งดำเนินการให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2535 โดยให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน และในกรณีที่รัฐเสียประโยชน์จากการดำเนินงานที่ไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวและคณะรัฐมนตรีพิจารณาเพิกถอนสัญญาหรือข้อตกลงต่อท้ายสัญญา บมจ.ทีโอทีและบมจ.กสท จะต้องดำเนินการเรียกคืนผลประโยชน์ที่ขาดไปกลับคืนสู่รัฐ”

ดาบเล่มที่สามนี้ท่าทางจะแรงและมีผลบังคับใช้ได้เต็มที่ เพราะเป็นการสั่งการมายังหน่วยงานในสังกัดโดยตรง สามารถสั่งซ้ายหันขวาหันได้ ดูแล้วก็ชวนให้สงสารผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2G ทุกรายที่ฝ่ามรสุมแห่งวังวนผลประโยชน์ลูกแล้วลูกเล่า และยังต้องเจอะเจอกับอุปสรรคข้างหน้าอีกนานัปการ แถมยังมาจากทุกทิศทาง ไม่ว่าจะจากนายทาสเจ้าของสัญญาสัมปทาน, บรรดาเหลือบที่หวังอยากเข้ามามีเอี่ยวกับเม็ดเงินของโครงการ 3G,กลุ่มคนอยากดังที่อาศัยการแสดงความคิดเห็นผ่านเวทีสาธารณะต่างๆ,รวมไปถึง บรรดาไทยมุงที่โผล่หน้าตามแห่เขาไปเรื่อยๆ ปิดท้ายด้วยตัวละครใหม่อย่าง สคร. (สำนักคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ) ที่แสดงท่าทีชัดเจนว่า ถ้าบรรดาผู้ประกอบการเดิมไม่ยอมไปตกลงกันดีๆกับอ้ายโม่งที่รับบทผู้กำกับ อยู่หลังฉาก คงได้เห็นการตายหมู่เกิดขึ้นกันอย่างแน่นอน!)เสียงคำรามของหมาป่ากับหมัด เด็ด ม. 22

หลังการปฏิวัติ เมื่อวันที่ 19 กันยายน2549 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)ได้แต่งตั้งให้ พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร บมจ.ทีโอทีหนึ่งในผลงานชิ้นสำคัญก็คือการเข้าไปรื้อสัญญาสัมปทานที่ ทีโอที ทำกับ AIS และมีลูกหลงกระทบชิ่งไปถึงสัญญาของกสท ที่ทำกับ DTAC ทรูมูฟ และ DPC ด้วย โดยใช้เครื่องจักรกลสังหารซึ่งมีชื่อว่า คณะกรรมการประสานงานตามมาตรา 22 (คณะกรรมการ ม. 22) ตาม พ.ร.บ.”ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535″ อันมีรายละเอียดดังนี้

หมวด 4 การกำกับดูแลและติดตามผลมาตรา 22 เมื่อได้มีการลงนามในสัญญาแล้ว ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานเจ้าของโครงการเป็นประธานผู้แทนกระทรวงการคลัง หนึ่งคน ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหนึ่งคน และผู้แทนจากหน่วยงานอื่นซึ่งมิใช่หน่วยงานเจ้าของโครงการหนึ่งคนผู้แทนฝ่าย เอกชนที่เข้าร่วมงานหรือดำเนินการหนึ่งคน ผู้แทนกระทรวงเจ้าสังกัดหนึ่งคน และผู้แทนอื่นซึ่งหน่วยงานเจ้าของโครงการเห็นสมควรแต่งตั้งอีกไม่เกินสามคน และรวมกันไม่เกินเก้าคน เป็นกรรมการ

การประชุมของคณะกรรมการประสานงานตามวรรคหนึ่ง และองค์ประชุมให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประสานงานกำหนด
มาตรา 23 ให้คณะกรรมการประสานงานตามมาตรา 22 มีอำนาจและหน้าที่ดังนี้
(1) ติดตามกำกับดูแลให้มีการดำเนินงานตามที่กำหนดในสัญญา
(2) รายงานผลการดำเนินงาน ความคืบหน้า ปัญหา และแนวทางแก้ไขต่อรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดเพื่อทราบ
ระยะเวลาที่จะต้องรายงานตาม (2) ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประสานงานกำหนดแต่ต้องไม่เกินหกเดือนต่อหนึ่งครั้ง

มาตรา 24 ในกรณีที่ปรากฏว่าหน่วยงานเจ้าของโครงการละเลยหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อ ผูกพันของสัญญาที่ลงนามไปแล้ว ให้ผู้แทนกระทรวงการคลังในคณะกรรมการประสานงานทำรายงานเสนอต่อรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการคลังเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

คณะกรรมการประสานงานตามมาตรา22 (คณะกรรมการ ม. 22) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งขึ้นนี้เริ่มต้นทำงานทันที เชื่อกันว่ากรรมการบางท่านถือธงออกมาจากบ้านเลยว่าทีโอทีทำผิดสัญญา จึงเกิดเกมรื้อค้นสัญญาสัมปทานทุกสัญญา เพื่อหาความผิดออกมาให้ได้ เวลาผ่านมากว่า 2 ปี คณะกรรมการ ม. 22 ยังคงทำงานอยู่ และทุกวันนี้ก็ยังมีการประชุมอยู่ตลอดเวลากระนั้นก็ยังหาข้อยุติในเรื่อง ความผิดของทีโอทีเกี่ยวกับการทำสัญญาสัมปทานไม่ได้ ว่ากันว่าส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะหากมีการประกาศพบความผิดขึ้นจริง บุคคลที่จะเดินเข้าห้องขังน่าจะเป็นคณะกรรมการ ทีโอที และ กสท เกือบทุกคณะนับย้อนหลังไปกว่า 10 ปี ที่ปล่อยให้สัญญาสัมปทานมีข้อผิดพลาด ทำนองว่ารู้ทั้งรู้แต่กลับไม่ยอมแก้ไข ซ้ำร้ายบางท่านก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมการ ม. 22 นี้เสียเองด้วย กรรมการบอร์ดทีโอทีและ กสท บางท่านยังรับราชการมีตำแหน่งใหญ่ในกระทรวงฯ หลายท่านเกษียณออกมาเลี้ยงหลานอยู่กับบ้าน ส่วนที่จะไปเล่นงานข้างฝ่ายเอกชนก็ไม่น่าจะใช่ที่ เพราะเอกชนไม่มีหน้าที่จะต้องรายงาน ครม. ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว

มีเรื่องซุบซิบกันในแวดวงโทรคมไทยว่าเนื่องจากการที่คณะกรรมการ ม. 22 ดังกล่าวได้รับการแต่งตั้งขึ้นมา โดยมีภารกิจที่เสี่ยงต่อการจูงแขนพรรคพวกตัวเอง ซึ่งอาจรวมตัวเองเข้าห้องขังไปด้วย คณะกรรมการๆ จึงขอให้กระทรวงไอซีที ทำหนังสือหารือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อวันที่ 17 มกราคม2550 และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีหนังสือตอบข้อหารือเมื่อเดือนพฤษภาคม2550 เรื่องเสร็จที่ 291/2550 มีสาระสำคัญ ดังนี้

“ทศท เป็นคู่สัญญา เป็นการกระทำแทนรัฐ รัฐมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในสัญญาดังกล่าว การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญามิได้เสนอเรื่องให้คณะกรรมการประสานงานตามมาตรา 22 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ และเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ การแก้ไขสัญญาโดย ทศทจึงกระทำไปโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย …ข้อตกลงต่อท้ายสัญญาที่ทำขึ้นยังคงมีผลตราบเท่าที่ยังไม่มีการเพิกถอน หรือสิ้นผลโดยเงื่อนเวลาหรือเหตุอื่น…”

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 823 ถ้าตัวแทนกระทำการใดโดยปราศจากอำนาจก็ดี… ถ้าตัวการไม่ให้สัตยาบันตัวแทนย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลำพัง ตนเอง…”

พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ หรือดำเนินการในกิจการของรัฐพ.ศ.2535
มาตรา 6 “ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการที่ประสงค์จะให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการใน โครงการใด เสนอผลวิเคราะห์ต่อกระทรวงเจ้าสังกัด”
มาตรา 8 “ให้กระทรวงเจ้าสังกัดของหน่วยงานเจ้าของโครงการพิจารณาเสนอผลงานต่อส่วนราชการดังนี้…”
มาตรา 12 “เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในโครงการใดแล้ว ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานขึ้น…”

สัญญาของ กสท และ DTAC ก็มีความเห็นเหมือนกับของทีโอทีและ AIS ส่วนกรณีของทรูมูฟและ DPC มีอาการหนักกว่า เพราะสัญญาหลักทำขึ้นหลังปี 2535 หลังจาก พ.ร.บ.ร่วมทุนใช้บังคับ ต่างจากของ AIS และ DTAC ที่สัญญาหลักทำขึ้นก่อนปี 2535 แต่มีสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมที่ทำกันภายหลังปี 2535

คำตอบนี้เป็นเสมือนฝันร้ายของคณะกรรมการ ม. 22 เพราะคำตอบจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแสดงให้เห็นว่าหากพบความผิดขึ้นแล้ว ความผิดนั้นย่อมตกเป็นของทุกคน ไล่ตั้งแต่คณะกรรมการทีโอที และ กสท ทุกชุดที่เกี่ยวข้อง, กระทรวง ICT ฯลฯ และคณะกรรมการทีโอที และ กสท ที่มาจากตัวแทนของหน่วยงานราชการต่างๆ เช่น กระทรวงการคลังกระทรวงคมนาคม กระทรวงไอซีที อัยการอาจมีสิทธิ์ติดคุกได้ทุกคน ดังนั้นคณะกรรมการม. 22 จึงต้องทำงานอย่างรอบคอบที่สุด จะเห็นได้ว่านับตั้งแต่ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้กินเวลาไปกว่า 2 ปีแล้ว เพิ่งจะมีการพิจารณาไปได้ไม่กี่สัญญา คาดว่าคณะกรรมการชุดนี้จะทำงานเสร็จสิ้นไปพร้อมกับอายุสัมปทานระหว่างทีโอที และ AIS ในอีก 6 ปีข้างหน้า

คำถามก็คือ ในเมื่อคณะกรรมการ ม. 22 ยังทำงานไม่เสร็จและยังไม่มีข้อสรุปใดๆเลยทำไม สคร. ที่ก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมการ จึงออกมา ให้ข้อมูลกับ ครม. ดังเป็นข่าวข้างต้นว่าทั้ง 2 รัฐวิสาหกิจทำสัญญากับบริษัทเอกชนรวม 10 สัญญา และแก้ไขเพิ่มเติมในสัญญาหลายครั้งนับตั้งแต่ปี 2533 ซึ่ง สคร.ได้ประเมินความเสียหายเบื้องต้นที่เกิดขึ้นว่ามีมูลค่ากว่าแสนล้าน และ สคร.ยังมีข้อสังเกตว่าเห็นสมควรให้กระทรวงไอซีที บมจ.ทีโอที และบมจ.กสท เร่งดำเนินการให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2535 โดยให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน

คณะกรรมการ ม. 22 ทำงานมากว่า 2 ปียังไม่มีข้อสรุป แถมเพิ่งพิจารณาไปไม่กี่สัญญาแต่กลับไม่รอให้ทำให้เสร็จ มาออกข่าวว่ากระทรวงไอซีที บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท จะต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จทั้งหมดภายใน 1 เดือนถามว่า “ใคร” ต้องการบอก “อะไร” กับสังคมหรือเป็นการส่งสัญญาณถึงผู้ประกอบการเดิมว่ายังมีดาบอีกเล่มที่ พร้อมจะเชือดได้ทันที เพราะหากมีการตัดสินว่าสัญญาสัมปทานเป็นโมฆะและเอกชนต้องจ่ายค่าเสียหายย้อน หลังเป็นแสนล้าน ก็ต้องถือว่าไม่คุ้มเสียแล้วกับการได้ใบอนุญาตใหม่

ทั้งหมดที่เกิดขึ้นดูราวกับเป็นเหมือนนิทานเรื่อง หมาป่ากับลูกแกะ อย่างไรเสียผู้ประกอบการเดิมก็ต้องผิด ถ้าไม่ผิดกติกาที่จะประมูลใบอนุญาตใหม่ ก็ต้องผิดสัญญาสัมปทานเดิมเมื่อ 10 ปีก่อน เข้าทำนอง ถ้าเอ็งไม่ผิดก็เป็นพ่อเอ็งที่ผิด ยังไงเอ็งก็ต้องผิด……มุมมองข้อพิจารณาโดยนักกฎหมายชั้นครูในเรื่องดัง กล่าว

1. พ.ร.บ. ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯเป็นกฎหมายที่กำหนดขั้นตอนให้หน่วยงานของรัฐ ถือปฎิบัติ มิใช่บังคับให้เอกชนถือปฏิบัติการที่ ทีโอทีมิได้ดำเนินการแก้ไขสัญญาตามขั้นตอนของ พ.ร.บ. ดังกล่าวก็เป็นเรื่องภายในของรัฐที่จะต้องพิจารณาว่าเป็นการละเว้นหรือ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่หากการกระทำดังกล่าวของเจ้า หน้าที่รัฐกระทำให้รัฐได้รับความเสียหาย ก็ต้องหาผู้รับผิดชอบจากเจ้าหน้าที่รัฐเองไม่สามารถบังคับกับเอกชนได้

2. คณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาว่า “การแก้ไขสัญญาของทีโอที เป็นการกระทำไปโดยไม่มีอำนาจ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีอำนาจทางกฎหมายที่จะเพิกถอนหรือไม่ก็ได้ และสัญญาจะยังมีผลตราบเท่ายังไม่มีการเพิกถอนหรือสิ้นผลโดยมีเงื่อนเวลาหรือ เหตุอื่น และทีโอที เป็นคู่สัญญา เป็นการกระทำแทนรัฐ” ซึ่งหมายความว่า การกระทำของ ทีโอที เป็นการกระทำในฐานะตัวแทนรัฐ แม้ว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาจะอ้างว่าทีโอที กระทำไปโดยไม่มีอำนาจก็ตามแต่บริษัทซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิได้รับรู้ว่าทีโอ ที ไม่มีอำนาจกระทำ และ พ.ร.บ. ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ ก็เป็นขั้นตอนปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐ แม้แต่ ทีโอที ก็ยังเข้าใจว่าที่ผ่านมาตนเองได้กระทำไปโดยมีอำนาจกระทำอย่างถูกต้องแล้ว เพราะไม่เคยมีผู้ใดทักท้วงมาก่อนไม่ว่าจะเป็นกระทรวงต้นสังกัด(คมนาคมและไอ ซีที) หรือบรรดาผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐศาสตร์ การเงินการคลัง กฎหมาย หรือแม้แต่ความมั่นคงที่ได้ถูกเชิญให้เข้ามานั่งเป็นคณะกรรมการ รวมไปถึง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินหรือ สตง. ที่มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องในการดำเนินงานและงบการเงินขององค์กรทั้งสอง ต่างก็นิ่งเฉยเสีย กว่าจะรู้ตัวว่าทำไม่ถูกต้องก็เมื่อกฤษฎีกามีความเห็นออกมาแล้ว

ดังนั้น หากคณะรัฐมนตรีไม่ให้สัตยาบันสัญญาที่ทีโอทีได้กระทำดังกล่าว ทีโอทีและ กสทในฐานะตัวแทนของรัฐก็ต้องรับผิดต่อการกระทำนั้นเอง ไม่สามารถที่จะเรียกร้องให้บริษัทต้องรับผิดใดๆ ร่วมด้วยได้ ตามมาตรา 823 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบัญญัติหลักไว้ว่าถ้าตัวแทน (ทีโอที/กสท) กระทำการอันใดโดยปราศจากอำนาจหรือทำนอกเหนือขอบอำนาจย่อมไม่ผูกพันตัวการ (รัฐ) เว้นแต่ตัวการจะให้สัตยาบัน ถ้าตัวการไม่ให้สัตยาบัน ตัวแทน (ทีโอที/กสท.) ย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลำพังตนเอง

โดยสรุป ข้อกล่าวหาของ สคร.ย่อมไม่มีผลกับเอกชนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ใดๆ แล้วยังจะมีหน้ามาเรียกร้องค่าเสียหายจากความบกพร่องในหน้าที่ของตนที่มิได้ นำเรื่องขออนุมัติจากครม.ก่อน หาก สคร. คิดจะเดินหน้าเล่นละครเรื่องหมาป่ากับลูกแกะต่อไป ผู้กำกับก็ต้องคิดให้ดีว่า ท้ายที่สุด ดาบเล่มนี้จะฟันคอใครกันแน่…คงได้เห็นการตายหมู่เกิดขึ้น

ตามธรรมเนียมของนิทานก่อนนอน ต้องมีสุภาษิตตบท้าย ทุกขโต ทุกขถานัง ให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตัว
ท้ายสุดแต่ไม่สุดท้าย ได้ข่าวว่าผู้กำกับฉากเริ่มถอยฉากที่จะใช้ดาบสามเพราะฟันโดนพวกตัวเองเข้า เต็มที่ จึงมีดำริที่จะใช้ดาบเล่มที่สี่ที่ถ้าชักออกมาเลือดสาดทั้งแผ่นดิน คือภาษีโทรคมนาคม หากเป็นเช่นนั้นคนที่โดนเต็มๆก็น่าที่จะเป็นผู้ใช้บริการมากกว่า ไม่เข้าใจจริงๆคิดอะไรอยู่ชักดาบออกมาทีไร ทื่อทุกที!!!!

Source: Link


เอกชนโวย‘ทีโอที’ โขกค่าขายส่ง3จี

December 2, 2009
เอกชนผู้เช่าโครงข่ายโวย ทีโอที เคาะขายส่ง 3จี แพงกว่าราคาปลีก ที่ขายขณะนี้ ร้องให้ร่วมทำตลาดทั้งที่สัญญาณโครงข่าย ไม่พร้อม

รายงาน ข่าวจากบริษัท ทีโอที เปิดเผยว่า ขณะนี้เอกชนทั้งสาม ราย คือ บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย บริษัท ล็อกซเล่ย์ และบริษัท 365 ที่โดนทีโอทีให้ร่วมเปิดให้บริการ 3จี ของทีโอที ในวันที่ 3 ธ.ค.นี้ กำลังไม่พอใจทีโอทีอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องราคาที่ยังไม่ได้ข้อสรุป ทั้งนี้ เอกชนทั้งสามราย เป็นเอกชนที่มาเช่าใช้โครงข่ายเพื่อทำการตลาดในรูปแบบโครงข่ายเสมือนหรือ เอ็มวีเอ็นโอ ไม่พอใจที่ ทีโอทีขายแพ็กเกจเบื้องต้นให้ผู้ใช้บริการ 3จี กลุ่มผู้ใช้ไทยโมบายเดิมและพนักงานทีโอที ทดลองใช้ ราคาเหมาจ่าย 300 บาท และ 500 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าที่ขายส่งให้กับเอ็มวีเอ็นโอ นอกจากนี้เมื่อให้ทีโอทีสรุปราคาใหม่ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สรุป เอกชนไม่สามารถประกาศค่าบริการได้ ทั้งที่ใกล้วันเปิดให้บริการวันที่ 3 ธ.ค.แล้ว

สำหรับเอ็มวีเอ็นโอทั้ง 3 รายที่ต้องเปิดให้บริการวันที่ 3 ธ.ค.นี้ มีทิศทางการตลาดที่แตกต่างกัน โดยไอ-โมบายเน้นขายซิมพร้อมมือถือ ล็อกซเล่ย์เน้นให้บริการด้านดาต้าและการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ส่วนบริษัท 365 มุ่งให้บริการในรูปแบบชุมชนออนไลน์ (Social Community) ขณะที่บริษัท ไอ.อี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล และบริษัท เอ็ม คอนเซาท์ เอเชีย ยังไม่พร้อมเปิดให้บริการ

ด้านนายสุรซ ล่ำซำ กรรมการ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ กล่าวว่า บริษัทวางตำแหน่งเป็นผู้ให้บริการด้านดาตาอย่างชัดเจนภายใต้แบรนด์ ไอคูล 3จี (i kool 3จี) ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ใช้ทำตลาดด้านอินเทอร์เน็ตเดิมของล็อกซเล่ย์อยู่แล้ว มุ่งเน้นการให้บริการอินเทอร์เน็ตภายในองค์กร เอสเอ็มอี และการติดต่อระหว่างเครื่องและเครื่อง (Machine to Machine) เช่น เครื่องอ่านบัตรกับเซิร์ฟเวอร์กลาง เป็นต้น

ทั้งนี้ เบื้องต้นทำการตลาด 2 หมื่นซิม คิดค่าบริการตั้งแต่ 1,000 บาทต่อเดือน ขณะที่ผู้ใช้ทั่วไปจะขายอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในราคาต่ำกว่า 3,000 บาท โดย 4 เดือนแรกจะเป็นการทำตลาดร่วมกับทีโอที หลังจากนั้นจะร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อเป็นเอ็มวีเอ็นโออย่างเต็มตัว ทั้งนี้ได้ลงทุนไปแล้ว 40-50 ล้านบาท ตั้งเป้าว่าจะถึงจุดคุ้มทุนภายใน 18 เดือน หรือมียอดใช้งาน 3 หมื่นซิม

นายสุรซ กล่าวว่า การทำ เอ็มวีเอ็นโอครั้งนี้ไม่ได้คาดหวัง เรื่องรายได้มาก แต่เห็นเป็นตลาด เติบโตดี

Source: Posttoday


สัมภาษณ์พิเศษ: “วรุธ สุวกร”กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน)

November 30, 2009
พัฒนาเทคโนโลยีให้ดี ลูกค้าจะมาหาเราเอง
สัมภาษณ์พิเศษ:  “วรุธ สุวกร”กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน)

ก่อนหน้านี้ประมาณ 30 ปี คงไม่มีใครคาดคิดว่า “โทรมือถือและอินเตอร์เน็ต” จะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ แต่ทุกวันนี้แทบจะกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ไปเสียแล้ว กลายเป็นปัจจัยที่ 5-6 ที่มนุษย์จำเป็นต้องมี

แต่การพัฒนาเทคโนโลยีสื่อสารของไทย กลับเป็นไปอย่างเชื่องช้า เมื่อเทียบกับประเทศที่เจริญแล้ว ทั้งที่ประเทศเราเองก็ไม่ด้อยกว่าใครในด้านเทคโนโลยี ดูง่ายๆ เรามี “ดาวเทียม” ก่อนประเทศอื่นๆในภูมิภาคนี้ด้วยซ้ำไป
ปัญหาทั้งหมดที่ทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีของไทยล่าช้านั้น คงไม่ต้องพูดกันมาก เพราะเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ก็รู้อยู่ว่ามันมีปัญหามาจาก “การเมือง” ที่เข้ามาล้วงลูกแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกับ “ภาคเอกชน” รายใหญ่ ที่ผูกขาดธุรกิจสื่อสารในประเทศไทย

เรื่องเหล่านี้แม้ “วรุธ สุวกร”กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) จะพยายามหลีกเลี่ยงไม่พูดถึง แต่ข่าวที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ก็พอจะบ่งบอกทิศทางของ TOT ได้เป็นอย่างดีว่าจะต้องเดินหน้าต่อไปอย่างไร?

“วรุธ” ให้สัมภาษณ์กับ “สยามรัฐ”ว่า ทิศทางการดำเนินงานของของ TOT ปี2553 เป็นเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยีว่า เรื่องแรกที่จะทำคือ เรื่อง Network หรือระบบโครงข่ายของ TOT โดยได้ตั้งเป้าหมายสู่การให้บริการที่ดี ที่เรียกว่า 24 คูณ 7 ระบบจะต้องมีคุณภาพในการให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ในทุก 7 วัน สิ่งสำคัญที่กำลังดำเนินการอยู่ คือ การสร้างโครงข่าย Broad Band ซึ่งน่าจะแล้วเสร็จในกลางปีหน้า จะสามารถรองรับอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงได้อย่างพอเพียง

ประเด็นต่อไปที่จะทำคือ โครงข่ายเส้นใยแก้ว (Fiber Optics) ไปสู่บ้านผู้ใช้บริการ ซึ่งเราก็จะนำเทคโนโลยีที่เรียกว่าเคเบิลใยแสงนำแก้ว (Fiber Optics) ไปถึงผู้ใช้บริการ เป็นการให้บริการด้วยเทคโนโลยี เพื่อให้บริการครบวงจร ไม่ว่าจะเรื่องของ Broad Band Multimedia และInternet หรือบริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการวาง Content ผู้ใช้บริการสามารถใช้บริการเสริม สั่งซื้อสินค้าโดยตรงจากผู้ผลิต ซึ่งแตกต่างจากระบบทีวีแบบเดิม ที่ดูได้เพียงอย่างเดียว แต่ระบบที่เราวาง จะสามารถตอบกลับ หรือสั่งซื้อสินค้าได้ เป็นระบบแบบInter Active ที่พูดมาทั้งหมดเป็นโครงข่ายFixline หรือโครงข่ายตามสาย อนาคตก็จะเป็นเรื่องของโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 หรือที่เรียกว่า 3G ก็จะได้รับการติดตั้ง และขยายบริการครอบคลุม ทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล ให้มากที่สุด

ความหมายก็คือ พยายามไม่ให้เกิดช่องโหว่ได้ แต่จริงๆ มันอาจจะมีช่องโหว่เช่น เราอาจจะติดตั้งไม่แล้วเสร็จ ซึ่งปีหน้าเราจะพยายามให้เสร็จให้ได้ อาจจะขอติดตั้งจากเจ้าของอาคารเจ้าของพื้นที่ซึ่งอาจมีปัญหาในการเข้าไป เจรจา โดยโครงข่ายของเราจะมีระดับความเร็วไม่ต่ำกว่า7.2 Mbps
แต่ในทางเทคโนโลยีแล้ว 7.2 Mbps เมื่อมีจำนวนผู้ใช้ในจุดเดียวกันเยอะๆ มันก็ต้องแชร์ Bandwidth มันไม่เหมือนกับการผ่านสาย เรื่องนี้ต้องพูดกันให้ชัดเจน
เดี๋ยวผู้เช่าจะมาบอกว่า ทำไมเวลาเช็กสัญญาณ มาไม่ครบ 7.2 Mbps ก็ต้องอธิบายให้ผู้ใช้บริการทราบ ระบบที่เราวางทำให้ผู้ใช้บริการ Multimedia หรือ Broad Band ได้อย่างมีคุณภาพ ก็คือ พยายามทำให้สามารถใช้บริการได้ดี โดยไม่เสียความรู้สึก เช่น ภาพไม่กระตุก เสียงชัดเจนพยายามทำเรื่องเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด

สำหรับอนาคตต่อไป ปีหน้าจะทำให้เทคโนโลยีทั้งระบบเคลื่อนที่ และระบบFixline  สามารถ Convergence หรือมารวมกันได้ บนพื้นฐานเทคโนโลยีเดียวกันซึ่งจะทำให้เมื่อใช้อุปกรณ์ In User หรืออุปกรณ์ปลายทางมาต่อเชื่อม ก็จะได้บริการที่เหมือนกัน ตัวอย่าง Content หรือบริการต่างๆ ไม่ว่าจะเกิดบริการอะไรสักชนิด ก็สามารถจะถ่ายไปสู่ Network ของFixline และระบบเคลื่อนที่ได้พร้อมกัน ก็คือเทคโนโลยีก็จะเกิดขึ้นเหมือนกัน

ฉะนั้น บางคนที่เรียกว่า Conver gence ที่เขาเรียกเป็นศัพท์สูง จริงๆ มันก็คือเทคโนโลยีเดียวกัน พยายามทำให้เกิดเทคโนโลยีเดียวกัน ก็แค่นั้น เมื่ออุปกรณ์หรือบริการต่างๆ ส่งบนรากฐานเดียวกันก็จะสามารถส่งผ่านเข้าทั้งโครงข่ายเคลื่อนที่และระบบ Fixline การใช้ศัพท์สูงเกินไปทำให้ชาวบ้านไม่เข้าใจ ที่จริงมันคือการพยายามใช้เทคโนโลยีเดียวกัน แต่ระบบเคลื่อนที่มันจะช้ากว่าครึ่งก้าว

ระบบเคเบิลมีความจุมาก แต่สมัยก่อนมีปัญหาคือ สัญญาณมันหักเหไม่ได้ แต่ตอนนี้สามารถหักเหได้ แบ่งช่องสัญญาณได้อีก แบ่งโดยใช้สี สร้างสีขึ้นมาในใยแก้วมันพัฒนาไปไกลมาก แต่การลงทุนโครงข่ายต้องใช้วงเงินสูง ในประเทศมาเลเซียรัฐบาลเขาช่วยจ่ายชดเชยให้เป็นแสนล้านถามวางวงเงินขนาดนี้ TOT รับไหวไหมคงรับไม่ได้

เพราะฉะนั้น ต้องอยู่ที่นโยบายของภาครัฐ จะมีนโยบายในเรื่องของโครงข่ายโทรคมนาคมพื้นฐานอย่างไร ปัจจุบันโครงข่ายมันก็มีอยู่ แต่ไม่ถึงผู้เช่า ตัวต่อเชื่อมจากเสาไฟฟ้าสู่บ้านผู้เช่า บางส่วนเรายังใช้เป็นสายทองแดง พวกนี้ลงทุนมหาศาลยิ่งสถานการณ์ปัจจุบัน ผมว่ามูลค่าในการลงทุนเป็นแสนล้านทั่วประเทศ

ส่วนในอนาคตเป็นเรื่องของ 4G อย่างเช่น ประเทศเกาหลี ที่เคยไปดูงานเขาเริ่ม 4G ความเร็วที่เขาคุยไว้มีมากถึง100 Mb ซึ่งเหลือเฟือ แต่ว่าแบ่งแล้วจะมีข้อจำกัด คือถ้าคนใช้เยอะๆ ก็ต้องแบ่งพอแชร์ก็ต้องโหลด คือแย่งกันใช้ มันมีข้อจำกัดอย่างนี้ เทคโนโลยีมันไป ก็ต้องไปพร้อมๆ กัน ก็มีข้อจำกัดของแต่ละประเภทอยู่ แต่ระบบสายไม่มีข้อจำกัด เพราะสามารถใส่ปริมาณเข้าไปได้ ถ้าคุณเพิ่มสายเพิ่มวงจรเข้าไป ที่เกาหลีทำมาแล้ว 4 ปีซึ่งมันก็เหลือเฟือ แต่มันยังไม่ Commer cial ของซัมซุง ก็เคยเอาระบบมาให้เราดู

ปัจจุบันในเกาหลี 3G เขาไม่ได้วางทั่วนะ บางจุดยังใช้ 2G อยู่ อนาคต 2G หรือ 2.5G ก็ต้อง Lost ไปโดยปริยายด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง เรื่อง3G เป็นเรื่องของนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว ว่าจะให้ดำเนินการลงทุนรูปไหน ตอนนี้รัฐบาลไม่ต้องการให้เราพูดเรื่องการแข่งขันเชิงธุรกิจ เป็นเรื่องของการให้บริการ ในเรื่องของราคาเราคงไม่เข้าไปแข่งขัน เพราะเราเป็นองค์กรของรัฐ มีหน้าที่บริการประชาชนและสังคม ก็ต้องให้บริการไปตามศักยภาพ

ทางด้านผลการดำเนินงานของ TOT ในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา เมื่อเปรียบเทียบกัน ไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ ยังมีกำไรอยู่ ปีที่แล้วกำไร 4 พันกว่าล้าน ปีนี้น่าจะ4-5 พันล้าน อาจจะโตขึ้นมานิดหน่อย กำไรดีขึ้นเท่านั้นเอง แต่เนื่องจากว่าการลงทุนของเราสูง ผลตอบแทนที่กลับมาจึงต้องใช้เวลา ประกอบกับต้นทุนในเรื่องของราคาซึ่งเราไม่ได้แข่งขันทางด้านราคา ราคาที่ได้มา เราไม่ได้ขยับเพิ่มขึ้น ตามเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น ซึ่งยิ่งเทคโนโลยีเปลี่ยนไปราคายิ่งสูง ซึ่งก็เป็นไปตามกลไก ผมก็ไม่ได้ไปเร่งราคา เพื่อไปเอา Return กลับมาเร็วๆ เพราะเราต้องบริการตอบสนองให้กับผู้ใช้บริการอยู่แล้ว

ส่วนเรื่องของบุคลากร ต้องพัฒนาบุคลากรของเราไป เป็นพื้นฐานโดยทั่วไปเราต้องมาดูว่า บุคลากรซึ่งจะรองรับเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นได้ ในอนาคตผมคิดว่า บุคลากรทางด้านไอที ทางด้านโทรคมนาคม เริ่มขาดแคลน โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาภาคเอกชน น่าจะผลิตบุคลากรด้านนี้โดยเฉพาะ

เน้นไปที่การแก้ไข หรือซ่อมแซมอุปกรณ์พื้นฐานได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ระบบต่างๆ
อนาคตคิดว่า ยิ่งเกิดสภาวะของการแข่งขันเพิ่มขึ้น การที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆเกิดขึ้น พื้นฐานของคนจะต้องมีการแก้ไขอย่าง TOT ถึงจะมีสถาบันที่ฝึกอบรมพวกนี้ ก็ต้องมีพื้นฐานในเรื่องของวิชาวิศวกรหรือวิศวกรรมประกอบ ก็คือบุคลากรทาง
ด้านปฏิบัติการ พวกที่จบวิศวะฯ มานั่งตั้งโต๊ะนี่ มันคงหมดยุค แต่คนที่เป็นภาคปฏิบัติโดยเฉพาะ ต้องมีอย่างพอเพียง และพวกนี้ต้องทันต่อเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น ไม่งั้นก็ลำบาก

เนื่องจากเราไม่ได้พัฒนาและวิจัยขึ้นมาเอง พูดง่ายๆ R&D เราไม่มีพอเพียงเราไม่เหมือนประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงหรือประเทศที่เขา พัฒนาไปแล้ว อย่างเกาหลี ช่วง 30 ปีมานี้ เห็นเขามีความแตกต่างเยอะ เขามีการส่งบุคลากรไปดูงานและไปศึกษาอบรมในประเทศต่างๆที่มีแผนธุรกิจที่ดี เทคโนโลยีที่ดี เขาก็เอากลับมาพัฒนาในประเทศของเขา ซึ่งเราไม่มีระบบการศึกษาที่ชัดเจนอย่างนั้น เราต้องมีการลงทุนในด้านนี้ ซึ่งพวกนี้มีการลงทุนสูงต้องใช้ระยะเวลา ถ้าเราจะซื้ออย่างเดียว อนาคตเราจะลำบาก

ในเรื่องบุคลากร ในเรื่องของการตลาด ที่บอกคือ เราไม่ได้แข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคา เรื่องของการแย่งลูกค้าเราคงจะไม่ได้ทำ ส่วนใหญ่เราก็ให้บริการในพื้นที่ ซึ่งผู้ให้บริการรายอื่นไม่ได้ให้บริการเช่น พื้นที่ที่เรียกว่ากันดาร หรือพื้นที่ที่ไม่ได้สร้างกำไร ฉะนั้น ถามว่าจะแข่งขันหรือเปล่า คงไม่ บริการใหม่ๆ ในอนาคตที่น่าสนใจ คือมีบริการ Conference ต่างๆซึ่งจะเริ่มมีบทบาท เราอาจจะใช้บริการที่เรียกว่า TOT E- Conference บริการของIDC อนาคตก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศก็คือ Integrated Data Center  ซึ่งเป็นการบริการสำรองข้อมูล ซึ่งเราเริ่มติดตั้งและพัฒนาขึ้น เราทำเองทั้งหมดและเปิดบริการให้กับภาครัฐและเอกชน เช่าใช้เราตั้ง IDC ขึ้นมาไม่ได้ต้องการแข่งขันกับภาคเอกชน เราทำเพื่อต้องการสร้างความมั่นคงด้านฐานข้อมูลให้กับประเทศไทย ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกเขาก็มีระบบฐานข้อมูลกลางแบบนี้ด้วยกันทั้งนั้น ระบบดังกล่าวปัจจุบันสร้างเสร็จแล้ว จะเปิดใช้บริการในปีหน้า ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการปรับปรุงพื้นที่ และวางระบบรักษาความปลอดภัย

ทิศทางของ TOT ที่ตั้งไว้ ก็คือ การให้บริการตามศักยภาพที่มี โดยจะไม่แข่งขัน หรือช่วงชิงลูกค้ากับใคร โดยมองว่าเมื่อเทคโนโลยีพัฒนาไปจุดหนึ่ง ผู้บริโภคก็ต้องพัฒนาตามไปเองโดยอัตโนมัติ สิ่งที่TOT ต้องทำคือ การให้บริการที่ดีและมีคุณภาพ ลูกค้าก็จะมาหาเราเอง…

Source: สยามรัฐ ฉบับวันที่ 30 พฤศจิกายน


กรณ์ลั่น 2 เดือน”3จี”มีคำตอบสุดท้าย

November 30, 2009

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเมื่อวันเสาร์ว่าภายในอีก 2 เดือนข้างหน้า กระทรวงการคลังจะเสนอข้อสรุปเกี่ยวกับการดำเนินการพัฒนาโครงข่ายโทรศัพท์ เคลื่อนที่ยุคที่ 3 หรือ 3 จี โดยมั่นใจว่าจะได้คำตอบสุดท้ายที่ดีที่สุดเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ไม่ว่าภาครัฐ ภาคเอกชนรวมถึงประชาชนคนไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเตรียมล้างไพ่ใหม่ โดยต้องเข้าไปแก้ปัญหาทั้งเรื่องสัญญาสัมปทานที่แต่ละบริษัทมีระยะเวลาไม่ เท่ากัน รวมถึงประเด็นเรื่องการโอนลูกค้าจากระบบเดิมไปสู่ระบบ 3 จี ที่หากเปิดประมูลในขณะนี้จะทำให้รายได้ภาครัฐหายไป

“ถ้าเปิดตอนนี้สิ่งที่เกิดขึ้นทันทีคือจะมีการโอนลูกค้าไป ทำให้รายได้รัฐหายไป จึงไม่ต้องแปลกใจที่จะมีเสียงโวยวายต่อว่ารัฐบาล” นายกรณ์กล่าว
นายกรณ์กล่าวอีกว่า รัฐบาลยังจะเดินหน้าปฏิรูปภาครัฐเพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลมากขึ้น เช่น การแก้ไขกฎหมายของกรมศุลกากรเพื่อลดแรงจูงใจของเจ้าหน้าที่จากการได้รับ สินบนและรางวัลนำจับตามกฎหมายเดิม จนทำให้มีความโปร่งใสเกิดขึ้น

รมว.คลังยืนยันว่า นโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลทำไม่ใช่เอาแต่มุ่งหวังผลทางคะแนนเสียงเป็นหลัก แต่หวังประโยชน์ที่สังคมจะได้รับมากกว่า อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเรื่องคะแนนเสียงก็หวังบ้าง เพราะถือว่าเป็นธรรมชาติของระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง ดังนั้นผลงานของรัฐบาลก็ต้องวัดผลงานจากความพึงพอใจของประชาชนด้วย.

Source:ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 29 พฤศจิกายน


3 จี แฟล็กชิป ทีโอที ได้แค่ภาพ เชิงธุรกิจยังสะดุด

November 30, 2009

วันที่ 3 ธ.ค.นี้ ถือเป็นฤกษ์ดีที่ผู้ใช้มือถือในไทยจะได้ใช้เทคโนโลยี 3จี ที่รอคอย ซึ่งบริษัท ทีโอที เคลมตัวเองว่าเป็นผู้ให้บริการมือถือ 3จี รายแรกของประเทศ

ซึ่ง ยิ่งใกล้วันเปิดบริการมากเท่าไหร่  สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นขณะนี้คือปรากฏการณ์คลั่ง 3จี เช่นเดียวกับที่คนแห่จองไอโฟน หรือต่อคิวจองตั๋วหนังสุดฮิต

ทว่า… จนถึงขณะนี้เชื่อว่าน้อยคนจะได้รู้ ได้เห็นโปรโมชันโดนๆ ที่จะกระตุ้นต่อมอยากใช้เทคโนโลยีสุดล้ำ แผนการโปรโมต 3จี ของทีโอทียัง “เงียบฉี่” ไม่แรงสมเป็นผู้ให้บริการ 3จี รายแรกของประเทศ เป็นแฟล็กชิปเพื่อสร้างรายได้ใหม่ๆ

เพราะ เพียงแค่เฟสแรก 548 สถานีที่กำลังจะเปิดบริการในสัปดาห์นี้ เอาเข้าจริงแล้วผู้ใช้มือถือจะมีโอกาสได้ใช้แค่ 50% ของสถานีที่มีอยู่ทั้งหมดเท่านั้น และดูเหมือนว่าการเปิดบริการก็เป็นเพียงการชิงภาพลักษณ์โรยหน้าเอาไว้ เพื่อให้ได้ขึ้นชื่อว่าทีโอทีเป็นรายแรกของประเทศ แต่การใช้งานได้อย่างไม่สะดุดที่ดูเหมือนจะเป็นหัวใจสำคัญของ 3จี นั้นคงจะไม่ได้เกิดขึ้นตามไปด้วย

ปัจจัย ที่ทำให้ 3จี ทีโอที ไม่ใช่ดาวจรัสแสงครั้งนี้ มาจากความไม่แน่นอนของภาคนโยบายที่พรรคร่วมรัฐบาล “เสียงแตก” กับโครงการ 3จี ทั่วประเทศ มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท ที่ถือเป็นภาคต่อที่จะเป็นบริการเต็มรูปแบบ ส่งผลให้โครงการ 3จี ในปัจจุบันต้องพลอยเสียหลักตามไปด้วย และกลายเป็นว่าจู่ๆ ร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กลับสั่งห้ามผู้ที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับ 3จี ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไอซีทีเองเป็นผู้ผลักดันให้ ทีโอทีเดินเกมรุก 3จี ให้เร็วที่สุด ถึงขนาดท้าชนกับคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กลั่นแกล้งทีโอทีเรื่องการออกใบอนุญาตให้บริการ (ไลเซนส์) 3จี ในช่วงเดียวกับที่ทีโอทีจะเปิดให้บริการ

ความ ไม่ชัดเจนระดับนโยบายกระทบต่อการทำตลาด 3จี ของ ทีโอทีอย่างจัง โดยเฉพาะการทำตลาดให้บริการเองจำนวน 1 แสนซิม ต้องถูกแตะเบรกกะทันหัน ทิ้งให้เป็นหน้าที่ของผู้ที่มาเช่าใช้โครงข่าย เพื่อทำการตลาดในรูปแบบเอ็มวีเอ็นโอทั้ง 5 ราย แต่จะมีประโยชน์อันใดหากเจ้าของโครงข่ายเองยังไร้ความเคลื่อนไหวเช่นนี้

น่า เสียดายโครงข่าย 3จี ทีโอทีที่มีคุณค่าและพยายามช่วงชิงจากกสทฯ มาเป็นเจ้าของเพียงผู้เดียว ซึ่งหากมีแนวคิดที่จะพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจตั้งแต่แรก ขณะนี้ทีโอทีคงนั่งนับเงินจากบริการ 3จี เพราะคิดก่อน ทำก่อน ได้เปรียบก่อน ต่างกับตอนนี้ที่ไม่มีผู้ให้บริการมือถือรายใหญ่สนใจที่จะเช่าใช้แม้แต่น้อย และทำให้โครงข่ายที่มีอยู่ถูกใช้ไปอย่างไม่เกิดประโยชน์โดยใช่เหตุ

ด้วย ปัจจัยรุมเร้าทั้งด้านนโยบายและความไม่พร้อมด้านโครงข่ายการให้บริการที่ไม่ ได้เสร็จสมบูรณ์ 100% สะท้อนให้เห็นว่าทีโอทีกำลังดันทุรังเปิดให้บริการ 3จี เพียงเพราะคณะกรรมการ (บอร์ด) ทีโอที จะได้ไม่ต้องลาออกตามที่ประกาศไว้หาก 3จี ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ทันวันที่ 3 ธ.ค.นี้ เมื่อไม่พยายามเต็มที่ เรือธง 3จี จึงไม่น่าจะพลิกฟื้นทีโอทีสู่น่านน้ำสีคราม หรือบลูโอเชียน ซ้ำยังต้องคอยลุ้นว่าจะล่มกลางทะเลด้วยรึเปล่า

Source: Post today


พนง.ทีโอทีแห่เข้าคิวจองประเดิมมือถือ3จีทะลัก

November 27, 2009

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างวันที่ 19-20 พ.ย.ที่ผ่านมา บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ ทีโอที เปิดรับลงทะเบียนและมอบซิมการ์ดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 จี ให้พนักงานทีโอที โดยมีพนักงานร่วมลงทะเบียนเปิดใช้บริการและรับซิมการ์ดจำนวนมาก โดยในวันแรกมียอดผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 2,000 ราย และคาดว่าในวันที่ 20 พ.ย. 2552 จะมีพนักงานทีโอทีจากส่วนงานอื่นๆ นอกสำนักงานใหญ่แจ้งวัฒนะมาลงทะเบียนเปิดใช้บริการอีกประมาณ 3,000 ราย

สำหรับการรับลงทะเบียนครั้งนี้ มีทั้งพนักงานทีโอทีซึ่งเป็นทั้งผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไทยโมบายเดิมมาขอรับซิมการ์ดใหม่ในระบบ 3จี และพนักงานที่ไม่ได้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ไทยโมบายก่อนหน้านี้มาเปิดใช้บริการใหม่ ซึ่งการรับลงทะเบียนดังกล่าว ทีโอที เปิดให้พนักงานสามารถเลือกหมายเลขที่ชอบได้และได้รับคูปองส่วนลดสำหรับแลกซื้อเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่รองรับบริการ 3 จี ซึ่งมีมาจำหน่ายภายในงาน เช่น Nokia, Samsung และ Sony Ericsson

ทั้งนี้ พนักงานที่มาเข้าคิวจองรับบริการในวันนี้ ส่วนใหญ่แสดงความคิดเห็นว่า บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 จี ของ ทีโอที เป็นบริการที่มีความสำคัญต่อประเทศชาติ และองค์กร ถือเป็นอนาคตของ ทีโอที ดังนั้น พนักงานทุกคนจึงต้องการที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนโครงการให้ประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ทีโอที จะเปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3 จี แก่ประชาชนทั่วไปอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 ธ.ค.นี้ เป็นต้นไป โดยจะมีพิธีเปิดที่เซ็นทรัลเวิลด์ เวลา 15.00 น.